เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2556 หรือ พ.ร.ก.ขึ้นภาษีสุรา ด้วยคะแนน 99 ต่อ 8 เสียง หลังจากที่ให้สว.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ได้ซักถามถึงการออกพ.ร.ก.ขึ้นภาษีสุราว่ามีผู้ที่รู้ล่วงหน้าหรือไม่ เพราะจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีสุราดังกล่าว จากสถิติการเก็บภาษี ในปี 2554 และ 2555 พบว่า ภาครัฐมีรายได้จากการเก็บภาษีสุราและเบียร์ รวมเป็นเงิน 1.1 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2556 แม้ตัวเลขจะยังไม่สรุป แต่คาดว่าเมื่อเก็บภาษีตามฐานภาษีที่ประกาศเชื่อว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น อีก 8,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวพบว่ามียอดเต็มเพดานแล้ว ยังเหลือเพียงสุราขาว และสุราผสม เท่านั้นที่อัตราเก็บภาษียังไม่เต็ม
นายตวง อันทไชย สว.สรรหา กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการขึ้นภาษีเพื่อลดอัตราการบริโภคจริง รัฐบาลต้องเข้าไปส่งเสริมภาคเอกชนที่ดำเนินการนโยบายลดการบริโภค รวมถึงต้องเข้าไปทำกิจกรรมและรณรงค์ในประเพณีและวิถีชีวิต เช่น งานบุญปลอดเหล้า แข่งเรือปลอดเหล้า เป็นต้น เนื่องจากการบริโภคสุราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต
ด้านนายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา ระบุว่า การขึ้นภาษีสุรา โดยอ้างว่าเพื่อปรับปรุงการแข่งขันให้ทันต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐอาเซียน ส่วนตัวอยากให้ชี้แจงให้ชัดเจน เพราะประเทศที่จะเข้ามาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ล้วนมีฐานการค้าและการเก็บภาษีที่แตกต่างกัน
ขณะที่ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ยืนยันว่า การขึ้นภาษีสุรานั้นเพื่อปรับปรุงการเก็บภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
แหล่งข่าวจาก posttoday…