นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามและเคลื่อน ผ่านประเทศลาวเข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน กฟผ. หลายแห่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนสิรินธร ได้รับผลกระทบโดยตรง มีฝนตกหนักในพื้นที่ด้านเหนือเขื่อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณมากติดต่อกันหลายวัน จนระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเหลือความจุรองรับน้ำได้อีกไม่มาก
ทั้งนี้กฟผ.จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มผ่านประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งการดำเนินการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น กฟผ. ได้แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อำเภอ และผู้นำชุมชนด้านท้ายเขื่อน ตลอดจนส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนและแจ้งเตือนก่อนเริ่ม เปิดบานประตูระบายน้ำล้น
สำหรับเขื่อนสิรินธร เริ่มเปิดบานประตูระบายน้ำล้น เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2556 เวลา 10.29 น. ซึ่งขณะนั้นมีปริมาณน้ำในเขื่อน 93% มีช่องว่างในอ่างฯ เพียง 130 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46 ซ.ม. กฟผ. จึงขยับบานประตูขึ้นทีละน้อย ซึ่งจากการติดตามระดับน้ำในอ่างฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงการเปิดบานประประตูระบายน้ำล้นเพื่อรักษาระดับน้ำในอ่างฯ ให้เป็นไปตามระดับน้ำควบคุม (Upper Rule Curve) โดย กฟผ. จำเป็นต้องสำรองช่องว่างในอ่างฯ สำหรับรับน้ำจากพายุดีเปรสชั่นที่กำลังก่อตัวในทะเล ซึ่งอาจมีทิศทางการเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยเหมือนลูกที่ผ่านมาได้
ปัจจุบันเขื่อนสิรินธร มีปริมาตรน้ำ 1,723 ล้าน ลบ.ม. หรือ 88% มีช่องว่างสามารถรองรับน้ำได้อีก 244 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพล และมีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นเกิน 80% ของความจุ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 83 % ของความจุ แต่ยังมีความจุรองรับน้ำได้อีกเกือบ 3,000 ล้าน ลบ.ม. จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง ด้านเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นเป็น 55% ของความจุ และมีระดับน้ำในอ่างฯ สูงกว่าระดับน้ำควบคุม (Upper Rule Curve) กำลังปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเตรียมรับสถานการณ์พายุดีเปรสชั่นที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเขื่อนอุบล รัตน์ได้ ส่วนเขื่อนอื่น ๆ สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจาก posttoday…